เราสามารถเรียนรู้การเล่นไวโอลินด้วยตนเอง (ไม่มีครู) ได้หรือไม่

👉👉👉นักดนตรีหลายคนที่ประสบความสำเร็จในการเล่นดนตรี จะมีอยู่บางส่วนที่มีการเรียนรู้ดนตรีด้วยเองปราศจากครูผู้สอน หรือ การแสวงหาเรียนรู้โดยไม่เคยเข้าชั้นเรียนดนตรีเลย ทำไมเขาจึงสามารถเล่นได้ และถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะมีความจำเป็นต้องไปเรียนดนตรีกับครูดนตรีในชั้นเรียนเฉพาะ เช่น โรงเรียนดนตรี สตูดิโอ หรือสถาบันดนตรีต่าง ๆ หรือไม่
👉👉คำตอบของเรื่องนี้อาจจะมีแนวทางตอบได้หลายอย่าง บางครั้งปริญญาทางดนตรีก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีความสามารถทางดนตรีได้เสมอไป แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องยืนยันว่าผู้ที่จบสาขาดนตรีนั้นได้รับความรู้และประสบการณ์ตามหลักสูตรที่ว่าเอาไว้ แต่นักดนตรี หรือ นักร้อง ศิลปินหลายคนก็ไม่ได้เรียนดนตรีในชั้นเรียนจริงจัง แต่เขาเหล่านั้นก็มีความถนัดทางดนตรีเป็นทุนเดิม เช่น มีความละเอียดในเรื่องการฟังเสียงดนตรี และองค์ประกอบทางดนตรีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทำนอง จังหวะ เสียงประสาน ฯลฯ และชอบหาประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับดนตรี จนเป็นการเพิ่มพูนทักษะทางดนตรีด้วยตนเอง ซึ่งจะสอดคล้องกับหนังสือวิชาการดนตรีของ Atarah Ben-Tovim และ Douglas Boyd ซึ่งมีชื่อว่า The right instrument for your child (การเลือกเครื่องดนตรีให้กับเด็กอ่างถูกต้อง) ซึ่งในหนังสือนี้ได้แนะนำทั้งเรื่องของความถนัด บุคลิกภาพ ลักษณะทางสรีระ และจิตวิทยาในการทำความเข้าใจเพื่อเลือกเครื่องดนตรีให้เด็กเล่น และมีการกล่าวถึง เครื่องดนตรีประเภทที่ไม่จำเป็นต้องมีครูผู้สอนพิเศษ หรือ เรียกว่า self taught หมายถึง เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง หรือ เรียนรู้กันภายในกลุ่มของเพื่อน ๆ ได้ เช่น กีต้าร์ไฟฟ้า กีต้าร์โปร่ง อูคูเลเล่ กลองชุด คีย์บอร์ด ฯลฯ ซึ่งจะเน้นไปในแนวดนตรีป๊อป ที่ไม่เคร่งครัดในเรื่องการอ่านโน้ต หรือ วิธีการในการบรรเลง แต่เป็นดนตรีที่มีพื้นฐานไม่ซับซ้อน โครงสร้างของบทเพลง หรือ เทคนิคไม่ยาก เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
👉👉ในส่วนของเครื่องดนตรีไวโอลินนั้น จริงอยู่ที่มีอยู่บ้างที่มีผู้ฝึกฝนด้วยตนเองได้ แต่เนื่องจากธรรมชาติของเครื่องดนตรีมีเอกลักษณ์ในการเล่นที่เฉพาะตัว ทั้งในเรื่องท่าทางการบรรเลง เทคนิคในการสร้างเสียงที่ไพเราะ การลำดับขั้นตอนของการฝึก การฟังเสียงซึ่งต้องอาศัยความละเอียดเนื่องจากเป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายที่ไม่มีเฟร็ต หรือ ตำแหน่งบอกเหมือนกีต้าร์ หรือ อูคูเลเล่ ดังนั้น ในการบรรเลงแต่ละครั้งผู้เล่นต้องอาศัยหูของตนเองในการพิจารณาตำแหน่งการกดนิ้วบนสาย จากเหตุผลที่กล่าวมานี้ทำให้ผู้อยากฝึกหัดไวโอลิน หรือ ผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานเล่นไวโอลิน จึงนิยมไปฝากตัวกับครูผู้สอน หรือ โรงเรียนดนตรี มากกว่าการให้เด็กหัดด้วยตนเอง ซึ่งผมจะลองเสนอคุณผู้อ่านให้เห็นว่าเหตุผลที่สมควรไปเรียนกับครูไวโอลินนั้นเป็นดังต่อไปนี้
🎷 เกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพของเครื่องดนตรี ไวโอลินมีขนาดที่หลากหลายซึ่งเหมาะสมกับผู้เล่นในช่วงวัยต่าง ๆ ไวโอลินไซส์ใหญ่ที่สุด คือ 4/4 ซึ่งเหมาะกับเด็กโตและผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กเล็กนั้นยังมีไวโอลินหลายขนาดให้เลือก ซึ่งถ้าเลือกขนาดที่ไม่เหมาะกับเด็ก การเล่นจะยากมาก รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบทั้งหลาย เช่น ที่รองไหล่ ก็ต้องถูกพิจารณาใช้อย่างเหมาะสม บางคนอาจถนัดการใช้ที่รองไหล่ ในขณะที่เด็กบางคนก็ไม่จำเป็น ซึ่งเรื่องเหล่านี้พิจารณาด้วยตนเองโดยปราศจากครูค่อยข้างยาก ความสมบูรณ์ของเครื่อง เช่น คันชักได้สมดุล หางม้ามีความเรียบร้อย ขึงตึงได้กำลังดี การถูยางสนอย่างถูกวิธี (หลายคนซื้อเครื่องแล้วถูไม่เป็นก็สีไม่ออกเสียง) หย่อง และนัท อยู่ในตำแหน่งที่ดี ถูกปรับแต่งแล้ว เล่นไม่เจ็บนิ้วมือ และระยะความสูงสายไม่ต่ำจนทำให้เสียงบอด เหล่านี้จะเห็นได้ว่ามีเรื่องมากกว่า กีต้าร์ หรือ อูคูเลเล่ ซึ่งแทบจะเล่นได้ทันทีเมื่อซื้อจากร้านและตั้งเสียงได้ง่าย แต่สำหรับไวโอลินนั้น ถ้าเป็นมือใหม่จะเสียเวลากับการตั้งเสียงมาก ผมเองยังจำได้ว่าเมื่อเล่นใหม่ ๆ ใช้เวลาตั้งเสียงเกือบชั่วโมง
🎷🎷 ท่าทางของการบรรเลง ไวโอลินจัดได้ว่าท่าทางของการบรรเลงจะมีความสอดคล้องสัมพันธ์กับคุณภาพของเสียงที่ออกมา ถ้าเราวางท่าในการเล่นผิด ปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ การกดตำแหน่งนิ้วมือซ้ายผิดพลาด วางนิ้วได้ยาก มีอาการเกร็ง เสียงเพี้ยน ส่วนถ้าการจับคันชักผิด ก็จะมีอาการควบคุมการลากสายได้ยาก เสียงที่ออกมาไม่มีกำลัง เสียงแข็งไป-อ่อนไป ทิศทางการลากสายไม่เป็นแนวตรง ซึ่งถ้าเทียบกับกีต้าร์แล้ว ท่าทางในการบรรเลงกีต้าร์จะมีอิสระในการเล่นได้มากกว่า หมายถึง คุณสามารถดีดกีต้าร์ได้ในคุณภาพเสียงใกล้เคียงกันโดยใช้ท่าทางที่หลากหลาย ในขณะที่ไวโอลินถ้าท่าทางผิดพลาด เสียงจะเปลี่ยนทันที ประเด็นของท่าทางในการบรรเลงไวโอลิน ผมจะขอเก็บไว้เขียนโดยละเอียดในโอกาสต่อไปครับ
🎷🎷🎷 คุณภาพเสียงในการบรรเลง แม้ว่าคุณจะหูดีมี Intonation ที่ดีตามธรรมชาติ แต่ถ้าการผลิตเสียงไวโอลินของคุณยังไม่ไพเราะ ก็ไม่สามารถบรรเลงออกมาได้ดี การเล่นไวโอลิน กับ การวอลม์เสียงของนักร้อง จัดได้ว่ามีความใกล้เคียงกันมาก นักร้องที่ดีต้องวอลม์เสียงให้มีกำลัง มีความก้องกังวานน่าฟัง ใช้เวลาฝึกแบบฝึกหัดร้องเสียงยาว ๆ เกือบเป็นชั่วโมงจึงสามารถเริ่มร้องเพลงได้ ไวโอลินก็เช่นเดียวกับ คุณต้องฝึกการลากคันชักบนสายเปล่าจนเสียงนิ่ง มีความลึก ความกังวาน แล้วจึงเริ่มเล่นบทเพลง แต่ผู้ฝึกโดยไม่มีครูควบคุมมักจะละเลยการฝึกคุณภาพเสียง หรือ ที่ในตำราของ Suzuki เขียนไว้ว่า Tonalization ซึ่งจำเป็นมาก ๆ และต้องให้ครูช่วยพิจารณาปรับปรุงแก้ไขไปจนดีขึ้นไปเรื่อย ๆ นอกจากนั้นการผ่อนคลายในขณะที่เล่นก็มีความสำคัญมาก เสียงไวโอลินที่ออกมาจะสะท้อนถึงความเครียดหรือการผ่อนคลายร่ายกายในขณะที่เล่นได้อย่างชัดเจน
🎷🎷🎷🎷 แบบฝึกหัด ตำรา และการลำดับขั้นตอนบทเพลงในการฝึกฝน ในการเรียนไวโอลินที่ถูกต้องตามหลักการมีแบบฝึก ตำรา บทเพลงฝึกหัดมากมาย เช่น ของประเทศอิตาลี ได้แก่ Corelli, Geminiani , Vivaldi , Tartini , Paganini, Bohm, Jochim , Dont ของประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ Viotti , Baillot , Kreutzer , Roder , Mazas ของประเทศออสเตรียและประเทศเยอรมัน ได้แก่ Biber, Leopold Mozart , Ludwig Spohr ของประเทศฮอลแลนด์ ได้แก่ J. Rontgen , L. Metz, Theo Olof ของประเทศอเมริกา ได้แก่ Ivan. Galamian , Frerick Neumann ของประเทศเบลเยี่ยม ได้แก่ Danola , Deberiot , Vieuxtemps , Ysaye ของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Suzuki เป็นต้น นอกนั้นยังมีของนักไวโอลินระดับโลก เช่น Gingold Auer , Hubay , Flesch , Sevcik , Menuhin , Friedman , Alberto Lysy , Kurt Sassmannshaus Mark O’Connor ฯลฯ ถ้าจะเรียนให้ตามตำราที่กล่าวมาชีวิตนี้คงไม่วันจบ แต่ครูไวโอลินจะพิจารณาในการเลือกแบบฝึก ตำรา และบทเพลงให้กับผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมตามระดับที่เรียน และสามารถวางแนวทางในการเรียนได้อย่างชัดเจน
🎷🎷🎷🎷🎷การตีความเพลง (Interpretation) ในบทเพลงเดียวกัน กระดาษโน้ตแผ่นเดียวกัน บางคนก็บรรเลงได้ไพเราะ ในขณะที่บางคนก็เล่นเป็นเพลง แต่ก็ไม่ได้มีความไพเราะ สิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่างกัน คือ ความเข้าใจในบทเพลงอย่างลึกซึ้ง หรือ การตีความเพลงนั่นเอง ครูผู้สอนที่มีประสบการณ์จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกและความเข้าใจเกี่ยวกับบทเพลงได้ ซึ่งจะเป็นความรู้เกี่ยวกับยุคสมัยทางดนตรี สไตล์ของบทเพลง การเน้นเสียง การใส่ความยาว-สั้น-ดัง-เบา หรือ Articulation ที่เหมาะสมในแต่ละประโยคเพลง ซึ่งทำให้ผู้เรียนเกิดความเป็นนักดนตรี หรือ Musicianship ได้ง่ายกว่าการที่ต้องไปแสวงหาความรู้เอาเอง
✍✍✍อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฝึกฝนด้วยตนเองก็ไม่ใช่ว่าจะแสวงหาความก้าวหน้าในการเล่นไม่ได้ เพราะดนตรีเป็นทักษะที่ต้องฝึกซ้อมสม่ำเสมอ เมื่อเกิดความคล่องตัวก็มีความชำนาญ เมื่อผ่านประสบการณ์บนเวทีก็เกิดการเรียนรู้ ดังนั้น ผมก็ขอลองเสนอแนวทางในการพัฒนาตนเอง สำหรับผู้ที่อยากฝึกฝนด้วยตนเอง ให้สามารถต่อยอดฝึกไปตามแนวทางที่ตนเองชอบดังนี้
🎷 ต้องหาความรู้ใหม่เสมอ ความรู้ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ความลับอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากมีความก้าวหน้าทางอินเตอร์เน็ต โลกแห่งความรู้เปิดกว้างสำหรับผู้แสวงหา ไม่ว่าจะเป็นการค้นข้อมูลเอกสาร ข้อมูลโน้ตดนตรี ตำราไวโอลิน หรือ คลิปวิดีโอการสอนซึ่งมีมากมายบน YouTube เมื่อเราค้นไปเรื่อย ๆ และฝึกหัดทดลอง ก็ย่อมตกผลึกความรู้ด้วยตนเอง มีแนวทางในการเล่นเฉพาะตนได้ ซึ่งหากเราไม่ต้องการเล่นในแนวทางของดนตรีคลาสสิก หรือ อยู่ในวงดนตรีที่มีความเคร่งครัดทางปฏิบัติ เช่น วงออร์เคสตร้า เราก็สามารถเล่นไวโอลินด้วยวิธีของเราอย่างมีความสุขได้
🎷🎷 ต้องหาโอกาสเข้าร่วม Masterclass หรือ Workshop บ้างตามสมควร Masterclass เป็นการสอนปฏิบัติขั้นสูงโดยครูที่มีประสบการณ์ ซึ่งในการเข้าร่วมเราต้องเตรียมตัวฝึกฝนบทเพลงให้ดี และขอเสนอตัวเข้าไปยังสถาบันที่จัดงาน ซึ่งในหลายครั้งที่มีอาจารย์ชาวต่างชาติมาทำการแสดง หรือ การสอนในไทย มักจะมีการจัด Masterclass เสมอ การได้เรียนเพียงช่วงสั้น ๆ จะมีประโยชน์มากเพราะเป็นการทดสอบสิ่งที่เราศึกษามาว่าเป็นวิธีถูกต้องหรือไม่ และจะมีแนวทางฝึกต่อไปยังไง ส่วน Workshop หรือ การประชุมเชิงปฏิบัติ ส่วนใหญ่มักจะเป็นภาคบรรยายประกอบสาธิต ซึ่งหากเราได้เข้าร่วมก็จะเป็นประโยชน์ และยังมีโอกาสได้ซักถามข้อสงสัยด้วย
🎷🎷🎷 ควรมีเพื่อนที่ชอบเล่นไวโอลิน หรือ เข้าไปเป็นสมาชิกวงดนตรี การเรียนรู้วิธีนี้สนุกและได้แลกเปลี่ยนประสบการณซึ่งกันและกัน ดีกว่าลุยศึกษาไปเพียงตัวคนเดียวแน่นอนครับ และถ้าได้มีโอกาสแสดงร่วมกับวงดนตรีในเวทีสาธารณะต่าง ๆ ก็จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการฝึกฝนได้ดีมาก ๆ
🤩🤩ซึ่งที่เขียนข้างต้นเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวผมเท่านั้นนะครับ หวังว่าข้อมูลนี้คงพอมีประโยชน์แก่ผู้สนใจอ่านบ้างนะครับ ท่านไหนมีประสบการณ์ในการฝึกฝนไวโอลินอย่างไร ก็เสนอแนะแลกเปลี่ยนกันได้ครับ🤩🤩